วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

การพัฒนาห้องสมุด

ในปีการศึกษา 2550 โรงเรียนได้พัฒนาห้องสมุดตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือโครงการห้องสมุดมีชีวิต รูปแบบของการพัฒนาได้นำคอมพิวเตอร์มาช่วยทั้งด้านการบริหารจัดการและการบริการ โดยยึดหลักคิดที่ว่าห้องสมุดจะมีชีวิตได้ต้อง มีกิจกรรมหลากหลาย การดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องและมีการเสริมแรงเพื่อให้นักเรียนซึ่งเป็นผู้รับบริการสนใจห้องสมุด
ก่อนการดำเนินการห้องสมุดมีชีวิต ได้อ่านบทความของคุณสัมพันธ์ พลันสังเกตุ ทำให้มีแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้นและขอเผยแพร่บทความไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ห้องสมุดมีชีวิต (Living Libary)

คำว่า"ห้องสมุดที่มีชีวิต"น่าจะเป็นคำประเภท "คิดใหม่ทำใหม่"ที่สร้างความสั่นสะเทือนและเปลี่ยนแปลงให้กับวงการห้องสมุดอุดมศึกษาเป็นอย่างมาก แต่ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ห้องสมุดที่มีชีวิตนั้นค่อนข้างจะคลุมเครือและสับสนอยู่ไม่น้อย และนี่ก็เป็นความคิดเห็น ส่วนบุคคลในอีกมุมมองหนึ่งที่ผู้เขียนมีต่อ "ห้องสมุดที่มีชีวิต" เท่านั้น
แรกเริ่ม ไม่ทราบว่าคำว่า "ห้องสมุดที่มีชีวิต" จะมีใครใช้มาก่อนหรือไม่หรือท่านนายกฯ(ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)เป็นผู้ใช้คำนี้ เป็นคนแรก ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "หัวใจแห่งการพัฒนาชาติ" ซึ่งจัดโดยประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ(ปอมท.)ร่วมกับ มหาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ซึ่งท่านนายกฯ ได้กล่าวตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับห้องสมุดไว้ว่า "ปัญหาที่ยังล้าหลังมากก็คือ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยไทย ในปัจจุบันทำห้องสมุดแค่ขอหนังสือเข้าห้องเท่านั้น แนวความคิดในการปฏิรูปอุดมศึกษาครั้งนี้ ต้องการให้สร้างเป็นห้องสมุด ที่มีชีวิตมากกว่า ไม่เพียงแต่ลงทุนเรื่องสถานที่แล้วไม่มีคนใช้...ขุมมันสมองของเด็กอยู่ที่ห้องสมุดซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณแก่ อาจารย์ที่จะสร้างห้องสมุด โดยจะต้องเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตเกิดแล้วโต ไม่ใช่ห้องสมุดที่เกิดแล้วตายโดยซื้อหนังสือที่เก็บแล้ว ไม่มีคนเข้าไปอ่าน... อยากเห็นเด็กไทยรักการอ่าน โดยพัฒนาห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต ซึ่งนอกจากจะมีหนังสือแล้ว จะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งห้องสมุดจะต้องเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลา
ท่านนายกฯ ได้กล่าวถึงห้องสมุดที่มีชีวิตอีกครั้งหนึ่งในการให้สัมภาษณ์นักข่าวรุ่นเยาว์ จากศูนย์ข่าวเยาว์ชนไทย ช่อง 11 ถึงนโยบายหลัก ที่รัฐบาลจะทำเพื่อเด็กและเยาว์ชนในปี 2545 มีความบางตอนว่า "อยากเห็นเด็กไทยพัฒนาตัวเองอย่างเต็มความสามารถ เต็มศักยภาพที่เด็กไทย มีอยู่ ดังนั้น ในปีนี้จะพยายามทำให้เด็กๆมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาให้ได้ โดยสิ่งที่อยากทำให้เด็กไทยที่สุดในตอนนี้คือ อยากทำห้องสมุดมี ชีวิตให้ เด็ก ห้องสมุดที่มีชีวิตจะต้องเป็นห้องสมุดที่เด็กๆเข้าไปอยู่แล้วมีความสุข มีความสนุก มีอาหารการกิน มีเครื่องเล่นที่สร้างสรรค์ เครื่องเล่น ที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย มีหนังสือที่เปลี่ยนแปลงเสมอ มีหนังสือแปลกๆ ใหม่ๆ ให้เด็กๆได้ค้นคว้า มีหนังสือหลากหลายประเภทและที่แน่นอน ต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตให้เด็กๆได้เรียนรู้ "
จากสรุปผลการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาอุดมศึกษาตามนโยบายของท่านนายกฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ทบวงมหาวิทยาลัย ที่ ประชุมอันประกอบด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันได้มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในกานดำเนินงานตามประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะใน ประเด็น ที่ 3 นโยบายในการพัฒนา Living Library ที่ประชุมได้อภิปรายโดยมีความเห็นและข้อเสนอแนะ สรุปได้ 7 ข้อ ในข้อ 1 ได้กล่าวว่า "พัฒนา ระบบห้องสมุดให้มีลักษณะเป็นห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) คือเป็นการประสมประสาน แบบบูรณาการทั้งในส่วนการทำเป็นห้องสมุด อิเล็กทรอนิกส์ (E-Library หรือDigital Library) การปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย และการสืบค้นโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ฯลฯ เข้าด้วยกัน เพื่อทำให้คนที่เข้ามาใช้ห้องสมุดได้รับประโยชน์สาระที่มาศึกษาค้นคว้า"
เท่าที่จับใจความได้ ท่านนายกฯ มองภาพห้องสมุดต่างๆ ว่าเป็นห้องสมุดที่ตายแล้ว คือ ไม่มีสิ่งจูงใจให้เข้าไปค้นนคว้าหาความรู้ ผู้ที่เข้าไป ใช้ห้องสมุดเป็นเพราะมีความจำเป็นต้องเข้าไป ต้องการจะหาข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการเรียนหรือการทำงานเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่เข้าไป ไม่เหมือน กับศูนย์การค้า หรือแหล่งบันเทิงอื่นๆ ที่มีคนไปยืนรอเวลาเข้าใช้บริการทำอย่างไร ห้องสมุดจะมีสภาพเป็นเช่นนั้นบ้าง
เดิมที ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาห้องสมุดระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2544 ณ ทบวงมหาวิทยาลัย ได้ให้ ห้องสมุดของแต่ละมหาวิทยาลัยได้คิดรูปแบบ และจัดทำโครงการห้องสมุดที่มีชีวิตเพื่อนำเสนอและของบประมาณจากรัฐบาล หลังจากนั้น ได้มี การเสนอโครงการหลากหลายตามสภาพของห้องสมุดแต่ละมหาวิทยาลัยเข้าไป แต่ในที่ประชุมครั้งต่อมา ได้ขอให้ทุกมหาวิทยาลัยร่วมกันคิดทำเป็นโครงการเดียวเพื่อความสะดวกในการของบประมาณและได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้กันอีกหลายครั้ง แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานและงบประมาณของรัฐ โครงการห้องสมุดที่มีชีวิตยังคงดำเนินการไม่แล้วเสร็จจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ประเด็นปัญหาในการทำห้องสมุดที่มีชีวิตที่พิจารณากันมีอยู่ 4-5 เรื่อง เช่น การเปิดห้องสมุดในศูนย์การค้าหรือแหล่งชุมชน การจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ การให้บริการสารสนเทศแบบออนไลน์ การเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ตลอดเวลามีบริการอาหารและเครื่องเล่น ที่เหมาะสมซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากทั้งสิ้นถ้ารัฐไม่ให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอ การดำเนินการก็จะมีข้อจำกัดตาม สถานภาพของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีแนวความคิดในเรื่องรูปของห้องสมุดที่มีชีวิตว่า ควรเป็นอย่างไร จะมีอะไรบ้าง จริงๆ แล้ว เรื่องนี้น่าจะเป็นไปตามสถานภาพของห้องสมุดแต่ ละแห่ง เพราะความพร้อมไม่เท่ากัน การปรับปรุง
เพื่อให้เกิดห้องสมุดที่มีชีวิตควรเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละห้องสมุดซึ่งอาจแยกออกได้ 2 ส่วน คือ หนึ่ง การให้บริการข้อมูลสารสนเทศในระบบออนไลน์แก่ประชาชน ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณสูงเพื่อปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ซึ่ง ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการในส่วนของเครือข่ายการศึกษาของชาติ ( EdNet ) ส่วนที่สอง คือ การปรับปรุงห้องสมุดเดิมให้กลายเป็นห้องสมุด ที่มีชีวิต โดยมีเป้าหมายหลักตามนโยบายของท่านนายกฯ ที่ว่า "เป็นห้องสมุดที่ผู้ใช้มีความพอใจและมีความสุขในการเข้าใช้บริการ" ในส่วนนี้จะใช้ งบประมาณไม่มากนัก เพราะห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความพร้อมในด้านสถานที่ ทรัพยากรสารสนเทศและ

บุคลากรอยู่แล้ว อาจ จะมีสิ่งเพิ่มเติมอื่นๆ อีกบ้างที่ต้องเสริมแต่งเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ห้องสมุดที่มีชีวิตอาจจะทำได้ดังนี้
ขั้นตอนแรก จะต้องรู้สถานภาพของตัวเอง ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมีหลายแบบ มีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง มีงบประมาณ มีทรัพยากร สารสนเทศ และมีบุคลากรมากน้อยแตกต่างกัน ในส่วนนี้รัฐจำเป็นจะต้องช่วยเสริมให้มีสภาพใกล้เคียงกัน สิ่งที่ต้องเพิ่มเติม คือ การให้ความสำคัญ กับห้องเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น มีหนังสือและวารสารมากมาย มีเครื่องเล่นและอุปกรณ์เสริมสติปัญญาเช่น มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตอย่าง เพียงพอ มีบรรณารักษ์ดูแลโดยเฉพาะ
ขั้นตอนที่สอง คนที่มาใช้บริการเป็นใคร เขาพอใจแล้วยัง ทำอย่างไรให้เขาพอใจเพิ่มมากขึ้น ผู้ใช้บริการหลักของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ได้แก่ นิสิตและอาจารย์ ซึ่งส่วนนี้ห้องสมุดจะต้องให้บริการอย่างเต็มที่อยู่แล้วและจะต้องให้เขามีความพอใจเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ขั้นตอนที่สาม ชักจูงคนให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อันได้แก่บุคคลภายนอก คือ เด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป ลองสำรวจดูว่า ทำไม เขาจึงไม่เข้ามาใช้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย อาจปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับบางส่วนที่ไม่เอื้อต่อบุคคลภายนอกแล้วจะต้องมีการโฆษณา ชักจูงเพื่อให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ในการนี้ มหาวิทยาลัยควรจัดให้มีห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อบริการแก่โรงเรียนและชุมชนและเพื่อการประชาสัมพันธ์
ขั้นตอนที่สี่ พยายามให้คนอยู่ในห้องสมุดนานที่จะนานได้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเสริมความสุข คือ มีวารสารและหนังสือหลากหลาย สิ่งพิมพ์ ทุกชนิดล้วนมีคุณค่าในตัวเองทั้งสิ้น อันสังเกตได้จากแผงหนังสือริมถนนที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ห้องสมุดน่าจะจัดให้มีสภาพ อย่างเดียวกันมีอาหารเครื่องดื่ม มีกิจกรรมความบันเทิงสำหรับพักผ่อนหย่อนใจไปในตัว
กระบวนการทั้งสี่ขั้นตอนสามารถนำไปใช้กับห้องสมุดไหนก็ได้ ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก แต่หากบรรณารักษ์และบุคลากรของ ห้องสมุดขาดจิตบริการแล้ว ห้องสมุดไหนก็เป็นห้องสมุดที่มีชีวิตไปไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ความมีน้ำใจ ความเอื้ออารีต่อผู้ใช้บริการจะเป็น ปัจจัยหลักในการดึงดูดให้คนเข้ามาใช้ห้องสมุด ซึ่งบางทีผู้ใช้บริการเพียงแค่อยากจะเข้าไปคุยกับบรรณารักษ์ เพราะชอบนิสัยเป็นการส่วนตัว แต่หลังจากคุยแล้วบรรณารักษ์ควรทำหน้าที่แนะนำหนังสือหรือสื่อใหม่ๆที่สนใจให้ด้วย ก็จะเป็นประโยชน์สองทาง
ห้องสมุดของไทยเริ่มมาจากวังและวัด อันเป็นที่รวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้ทรงความรู้ ที่ได้ศึกษาบันทึกและรวบรวมศาสตร์ต่างๆเอาไว้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีห้องสมุดของสถานศึกษา หน่วยงานราชการ และห้องสมุดประชาชน สภาพห้องสมุดจะแตกต่างกันเป็นไปตามงบประมาณที่ได้รับ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยนั้นน่าจะเป็นห้องสมุดที่มีทรัพยากรสารสนเทศและ เทคโนโลยีพร้อมมากที่สุด

ส่วนห้องสมุดโรงเรียนค่อนข้างจะขาดแคลนมากที่สุด ( ยกเว้นโรงเรียนขนาดใหญ่บางแห่ง ) คือ ขาดทั้งหนังสือและ คอมพิวเตอร์ ดังจะเห็นได้จากการทอดผ้าป่าหนังสือและการขอรับบริจาคคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ให้เห็นเป็นประจำ ห้องสมุดหน่วยงานราชการมัก เป็นห้องสมุดเฉพาะทางที่เอื้อให้กับบุคคลเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ห้องสมุดประชาชน โดยเฉพาะในระดับจังหวัด ( ไม่ต้องกล่าวถึงในระดับอำเภอ หรือระดับชุมชน ) เป็นห้องสมุดที่อาภัพที่สุด ขาดการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัยทั้งๆ ที่เป็นแหล่งหลักที่จะส่งเสริมให้คนรู้จักรัก การอ่านและศึกษาหาความรู้ ประเทศที่เจริญแล้วถือว่า ห้องสมุดประชาชนเป็นหัวใจของการศึกษา เป็นที่ที่ประชาชนเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองรัฐจึงให้ การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้สนใจในส่วนนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่ห้องสมุดที่มีชีวิตน่าจะเริ่มต้นจากห้องสมุดประชาชนได้ ถ้า รัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณ 3 - 4 พันล้านเพื่อ คืนชีพห้องสมุดประชาชนที่ตายแล้ว ทั่วประเทศ ก็น่าจะสอดรับกับนโยบาย " ประชานิยมเพื่อการ ศึกษา " ของรัฐบาลได้
สัมพันธ์ พลันสังเกตุ. ( 2546 ). ห้องสมุดที่มีชีวิต.
วารสารสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยทักษิณ, 2, 16 - 19.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความ ทำให้ได้รู้ว่าคำว่าห้องสมุดมีชีวิตมีที่มาอย่างไร แต่การที่จะทำให้ห้องสมุดมันมีชีวิตเหมือนชื่อนี่ซิจะทำกันอย่างไร